เกี่ยวกับเรา

เกี่ยวกับ TBS

สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ก่อตั้งครั้งแรกในรูปแบบของชมรม เมื่อราวปี 2539-2540 โดยใช้ชื่อว่า “ชมรมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย” โดยกลุ่มศัลยแพทย์จากหลากหลายโรงพยาบาลที่เล็งเห็นว่า โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นกันมากขึ้นตามยุคสมัย ตามการเปลี่ยนแปลงของวิถีการดำรงชีวิต การกินอยู่และการบริโภค จึงได้ร่วมกันจัดตั้งชมรมขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับโรคเต้านม

ในระยะแรก สมาชิกของชมรมฯ ส่วนใหญ่จะเป็นศัลยแพทย์ ซึ่งเป็นเสมือนแพทย์เจ้าของเคส แต่ภายหลังการรักษาคนไข้จะเป็นไปในรูปแบบของการบูรณาการจากแพทย์หลากหลายสาขา ได้แก่ ศัลยแพทย์ แพทย์รังสี แพทย์รังสิวินิจฉัย แพทย์พยาธิ รวมถึงแพทย์อาสาและพยาบาลด้วย ทางชมรมจึงเริ่มมีสมาชิกที่เป็นแพทย์และบุคลากรหลากหลายสาขามาร่วมประชุมเพื่อต่อยอดความรู้ และพัฒนาการรักษา ซึ่งทั้งหมดนี้มุ่งประโยชน์แก่ตัวคนไข้ ทั้งในด้านคุณภาพชีวิต คุณภาพการรักษา และการรักษาที่ทันท่วงที

สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย มีการเลือกนายกสมาคม วาระละ 2 ปี โดยมีนายกสมาคมฯ ดังต่อไปนี้
วาระที่ 1-5: พล.ต. นพ. สุรพงษ์ สุภาภรณ์
วาระที่ 6-7: พล.ท. รศ. นพ. วิชัย วาสนศิริ
วาระที่ 8 (ปัจจุบัน): รศ. พญ. เยาวนุช คงด่าน

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง

1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
2. เพื่อส่งเสริมการศึกษาวิจัยเรื่องโรคเต้านม
3. เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องโรคเต้านมแก่สมาชิกและแพทย์ทั่วไป ให้ก้าวหน้าและทันเหตุการณ์อยู่เสมอ
4. เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในหมู่สมาชิก
5. เพื่อเป็นตัวกลางในการติดต่อประสานงานระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ
6. เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างสมาชิก
7. เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลในเรื่องโรคเต้านม (ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง)

ที่ผ่านมา สมาคมฯ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การประชุมทางวิชาการ “Thai Breast Symposium” เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มแพทย์และบุคลากร และงานอีเว้นท์เพื่อให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป และยังมีการจัดทำหนังสือและเอกสารต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงมีการจัดประชุมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์จากเคสการรักษาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ผ่าน VDO Conference ทุกสัปดาห์ โดยมีพันธกิจหลักๆ ดังนี้
1. การเสริมสร้างองค์ความรู้ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม แก่สมาชิกที่เป็นแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการรักษา และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม
2. การให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความตื่นตัวในการตรวจเต้านม เพื่อให้สามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม
3. สนับสนุนงานวิจัยที่พัฒนาการรักษาดูแลโรคมะเร็งเต้านม

ปัจจุบัน สมาคมกำลังก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรในการรักษาโรคทรวงอก ที่เรียกว่า “Breast Cancer Positive Alliance” ขึ้น ภายใต้แผนโรดแมพ 10 ปี โดยมีสมาคมฯ เป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้อง (Stake Holder) ทุกฝ่าย ในการสร้างความร่วมมือ เพื่อลดอัตราการตายของคนไข้ หรือคุณภาพการรักษา และเพื่อร่วมกันกำหนดโยบายต่างๆ ร่วมกับภาครัฐในการสนับสนุนคุณภาพการรักษา รวมถึงการวิจัย และพัฒนาในด้านต่างๆ

วิสัยทัศน์

สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย มุ่งหวังที่จะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในการรักษาโรคเต้านม และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ผ่านการสนทนา กิจกรรม และสิ่งพิมพ์ที่สนับสนุนการศึกษาวิจัยเรื่องโรคเต้านมอย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนองค์ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวของพวกเขาและผู้สนใจ ผ่านกิจกรรมและสื่อต่างๆ ของสมาคมฯ

พันธกิจ

1. ส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเต้านมและการรักษาที่ถูกวิธีแก่ประชาชน
2. ส่งเสริมให้ความรู้แก่ศัลยแพทย์และแพทย์สหวิชาชีพเกี่ยวกับการรักษาโรคเต้านม
3. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และกรณีศึกษาใหม่ๆ และบูรณาการองค์ความรู้ในแบบสหวิชา
4. ส่งเสริมจริยธรรมในการรักษาคนไข้และส่งเสริมการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการรักษาของคนไข้
5. ส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยเรื่องโรคเต้านม
6. เป็นตัวกลางในการติดต่อประสานงานระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
7. ประสานความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรคเต้านม ทั้งในส่วนของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน หน่วยงานรัฐและเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แลกเปลี่ยนความรู้ ความร่วมมือ และสร้างความเข้าใจในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม และเกิดการขับเคลื่อนในระดับนโยบายของทางภาครัฐและเอกชนไปในทิศทางเดียวกันในทุกภาคส่วน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพการรักษา และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเต้านมลง

พันธมิตร